วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระราชดำรัสถามว่าเหตุใดจึงโค่นต้นนุ่นเสีย




หากจะย้อนกลับไปค้นหาจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาแล้ว ชื่อของ “ลุงรวย” และ “บ้านห้วยมงคล” คือสองชื่อที่ลืมไม่ได้

เรื่องราวของ “ลุงรวย” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2495 หรือมากกว่าห้าสิบปีล่วงมาแล้ว ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บ้านห้วยมงคลนี้อยู่ทั้ง “ใกล้และไกล” ตลาดหัวหิน ใกล้เพราะระยะทางที่ห่างกันนั้นไม่กี่กิโลเมตร แต่ไกลเพราะไม่มีถนน หากชาวบ้านจะขนพืชผักไปขายที่ตลาดต้องใช้เวลาเป็นวันๆ

ห่างไกลความเจริญถึงเพียงนี้ แต่วันหนึ่งกลับมีรถยนต์คันหนึ่งมาตกหล่มอยู่ที่หน้าบ้านลุงรวย เมื่อเห็นทหารตำรวจกว่าสิบนายระดมกำลังกันช่วยรถคันนั้นขึ้นจากหล่ม ลุงรวยผู้รวยน้ำใจสมชื่อก็กุลีกุจอออกไปช่วยทั้งงัด ทั้งดัน ทั้งฉุด จนที่สุดล้อรถก็หลุดจากหล่ม

เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้ว ลุงรวยจึงได้รู้ว่ารถคันที่ตัวทั้งฉุดทั้งดึงนั้นเป็นรถยนต์พระที่นั่งและคนในรถนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ

แม้จะตื่นเต้นตกใจที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงอย่างไม่คาดฝัน แต่ลุงรวยก็จำได้ว่าวันนั้น “ในหลวง” มีรับสั่งถามลุงว่า “หมู่บ้านมีปัญหาอะไรบ้าง”

ลุงได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่มีถนน

จึงนอกจากจะโชคดีได้รับพระราชทาน “เงินก้นถุง” จำนวน 36 บาทซึ่งลุงนำไปเก็บใส่หีบบูชาไว้เป็นสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้แล้ว

อีกไม่นานหลังจากนั้น ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งเข้ามาช่วยกันไถดินที่บ้านห้วยมงคล และเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ชาวบ้านก็ได้ถนนพระราชทาน

ถนนห้วยมงคลที่ทำให้ชาวไร่ห้วยมงคลสามารถขนพืชผักออกมาขายที่ตลาดหัวหินได้ภายในเวลาเพียง 20 นาที


เรื่องนี้ยังมีต่อ

หนึ่งปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรหมู่บ้านห้วยมงคลอีกครั้ง ได้เสด็จฯ ยังบ้านชาวไร่ผู้หนึ่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นเขาโค่นต้นนุ่นลงทั้งๆ ที่มันยังให้ผลได้อีก ก็มีพระราชดำรัสถามว่าเหตุใดจึงโค่นต้นนุ่นเสีย

ชาวไร่ผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า ไม่ปลูกนุ่นแล้ว จะปลูกข้าวโพดแทน สาเหตุก็เพราะเขาได้เข้าตลาดหัวหินเมื่อสองสามวันก่อน เลยเห็นว่าตอนนี้ข้าวโพดราคาดี

คำตอบของชาวบ้านคนนี้น่าสนใจมาก เพราะแสดงว่าถนนไปหัวหินสายนี้ ไม่เพียงได้ช่วยเชื่อมหมู่บ้านกับตลาดเท่านั้น แต่ยังช่วยเชื่อม “ชาวบ้าน” กับ “การตลาด” อีกด้วย

คัดลอกจาก : อมิตา อริยอัชฌา, ผู้เรียบเรียง. (2549). ครองใจคน. กรุงเทพฯ : คณะบุคคลบลิสสิเนส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น